บรมครูสายนะอุตตะรังประวัติบรมครู ปู่แสง ชัยสร
บรมครูปู่แสง ชัยสร ท่านเป็นอาจารย์สักอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 4 - 5
ปู่แสงนั้น ท่านถือได้ว่าเป็นฆารวาสที่มีชื่อเสียงมากทางด้านวิชาอาคมและการสักยันต์ในสมัยนั้น เดิมทีปู่แสงท่านอาศัยอยู่ในย่านสามเสน ต่อมาท่านได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่ตรอกไก่แจ้ ย่านบางลำภู ปู่แสงนั้นท่านจะทำการสักสัญลักษณ์ให้กับศิษย์เป็นตัวอักษรย่อ ส.เสือ สองตัว ซึ่งย่อมาจากคำว่า “ แสง สามเสน ” ไว้ที่บริเวณต้นคอของศิษย์ทุกคน ภายหลังจากที่ท่านย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่ตรอกไก่แจ้ ท่านได้ทำการเปลี่ยนการสักสัญลักษณ์จากตัว ส.เสือ สองตัวเหลือเพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งย่อมาจาก “ แสง ” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
บรมครูปู่แสง ชัยสร ท่านยังเป็นอาจารย์ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ( เสด็จเตี่ย ) ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 5 สมเด็จกรมหลวงชุมพรฯ
ท่านได้เข้าฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับท่านปู่แสง และพระองค์ได้รับการสักมังกรพันรำ ไว้ที่บริเวณพระพาหุ(แขน)ทั้งสองข้างของพระองค์
บรมครูปู่แสงท่านได้ถ่ายทอดสรรพวิชา คาถาอาคมแขนงต่างๆให้แก่ท่านอาจารย์ปลั่ง ศรีศักดา ซึ่งท่านอาจารย์ปลั่งได้คอยปรณนิบัติดูแลรับใช้ปู่แสงเป็นอย่างดีเรื่อยมาจนกระทั่งถึงวาระกรรมของท่าน ปู่แสง ชัยสร จึงเรียกได้ว่าท่านเป็นบรมครูต้นกำเนิดแห่งการสักยันต์สายนะอุตตะรังก็ว่าได้
ประวัติอาจารย์ ปลั่ง ศรีศักดา
ท่านอาจารย์ปลั่ง ศรีศักดา เกิดที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทางครอบครัวได้ประกอบอาชีพชาวนาและทำเครื่องดนตรีไทยจำพวกปี่พาทย์มอญ อาจารย์ปลั่งเดิมทีท่านชื่อว่า นายนนท์ ศรีศักดา และเป็นอาจารย์สักอยู่ที่สุพรรณบุรี ซึ่งชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกว่า อาจารย์ นนท์ เรืองาม เหตุเพราะเรือที่ท่านใช้นั้นสวยงามมาก เนื่องจากท่านอาจารย์ปลั่งได้เขียนอักขระเลขยันต์ต่างๆไว้ตลอดทั้งลำเรืออย่างวิจิตรงดงาม
ครั้นเมื่อท่านอาจารย์ปลั่งเดินทางเข้าสู่พระนครเพื่อรับราชการทหารในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านได้มีโอกาสร่วมก่อสร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม และในช่วงนี้เองที่อาจารย์ปลั่งท่านได้มาพบกับท่านอาจารย์แสง ชัยสร (สามเสน) บรมครูผู้เป็นต้นกำเนิดสายนะอุตตะรัง ด้วยความศรัทธาจึงขอรับการสักยันต์จากท่านอาจารย์แสง และได้ฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์เพื่อเล่าเรียนวิชาการสักยันต์เพิ่มเติมจากวิชาความรู้ที่มีอยู่เดิม
อาจารย์ปลั่งท่านได้เรียนกับอาจารย์แสง ชัยสร โดยถือเป็นอาจารย์ท่านสุดท้ายที่ได้เรียนอยู่จนจบกระบวนการของการสักยันต์ไทยแบบโบราณ อาจารย์ปลั่งได้ปรนนิบัติดูแลอาจารย์แสง ชัยสร จวบจนท่านอาจารย์แสงสิ้นลม
อาจารย์ปลั่งท่านได้สักนะอุตตะรังที่คอมาตลอดและได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ในการสักเรื่อยมาจนถึงในช่วงสมัยสงครามโลกมหาเอเซียบูรพาปี พ.ศ. 2485 ในช่วงเวลานั้นได้มีการทิ้งระเบิดลงจากเครื่องบินรบทางป้อมพระสุเมรุถนนพระอาทิตย์ บริเวณใกล้เคียงกับบ้านของอาจารย์ปลั่ง ซึ่งชาวบ้านทุกหลังคาเรือนต่างหลบหนีจากภัยสงครามอยู่ก่อนแล้ว แต่อาจารย์ปลั่งท่านไม่ได้หลบหนีไปไหน ท่านได้สวดมนต์ภาวนาอยู่ในบ้าน เมื่อท่านได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยว่าเครื่องบินกำลังจะทิ้งระเบิดจากหอสัญญาณที่ภูเขาทอง ในขณะที่เครื่องบินรบกำลังทิ้งระเบิดอยู่นั้นเอง อาจารย์ปลั่งท่านได้ออกมาโบกธงแดง ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจของผู้คนเป็นอย่างมากเป็นอย่างมากที่ระเบิดทุกลูกที่ตกลงมานั้นไม่เกิดการระเบิดขึ้นทั้งหมด ทำให้ผู้คนต่างเชื่อมั่นว่าเป็นเพราะอานุภาพแห่งพุทธคุณของยันต์ธงที่อาจารย์ปลั่งได้ออกไปโบกสะบัดพัด ด้วยเหตุนี้หลังสิ้นสุดสงคราม อาจารย์ปลั่ง ศรีศักดา จึงเป็นอาจารย์สักยันต์ที่มีชื่อเสียงและโด่งดังเป็นอย่างมาก
จากคำบอกเล่าของท่านอาจารย์สมใจ ศรีศักดา บุตรชายของท่านอาจารย์ปลั่ง ท่านได้เล่าให้ฟังว่าในยันต์ธงนั้นมีการลงเลขยันต์อักขระ อันได้แก่ ยันต์พุทธนิมิต และยันต์อิติปิโสแปดทิศที่ท่านอาจารย์ปลั่งเป็นผู้เขียนไว้นั่นเอง
นอกจากนี้ในช่วงเวลาที่ท่านอาจารย์ปลั่งสักยันต์อยู่นั้น ท่านเป็นผู้ที่สักยันต์ให้กับพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช นายตำรวจชื่อดังของวงการตำรวจไทยที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการปราบโจรผู้ร้ายจอมขมังเวทย์ในภูมิภาคต่างๆจนสิ้น รวมทั้งเหล่าทหาร ตำรวจและข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนบุคคลสำคัญในสมัยนั้นอีกมากมาย
ประวัติอาจารย์ สมใจ ศรีศักดา
อาจารย์สมใจ ศรีศักดา เกิดเมื่อ พ.ศ. 2480 เป็นชาวกรุงเทพมหานครโดยแต่กำเนิด อาศัยอยู่แถวย่านบางลำภู บิดาของท่านชื่อคุณพ่อปลั่ง ศรีศักดา มารดาชื่อคุณแม่เจิม ศรีศักดา มีพี่น้องด้วยกันทั้งหมดสี่คน พี่สาวคนโตชื่อนางล้อม พี่สาวคนที่สองชื่อนางจินตนา พี่สาวคนที่สามชื่อนางสำอาง และ อาจารย์สมใจ ศรีศักดา ซึ่งเป็นุตรคนสุดท้องและเป็นบุตรชายเพียงคนเดียว ในวัยเด็กท่านได้รับการศึกษาเล่าเรียนในสมัยสงครามญี่ปุ่นเอเซียบูรพา ในชั้นประถมศึกษาปีที่1-4 ณ โรงเรียนเขียนนิวาส ถนนพระอาทิตย์ ย่านบางลำภู หลังจากนั้น ท่านได้ไปศึกษาต่อที่วัดบวรนิเวศน์วิหารจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 ในขณะเดียวกันท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนอัขระขอม-ไทยโบราณด้วยความตั้งใจและใจรักในศาสตร์วิชาแขนงนี้ จากท่านอาจารย์ปลั่ง ศรีศักดา ซึ่งเป็นทั้งอาจารย์และบิดาผู้ให้กำเนิด
อาจารย์สมใจ ศรีศักดา เริ่มสักยันต์ตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยมีท่านอาจารย์ปลั่งเป็นผู้สอนและถ่ายทอดวิชาแขนงต่างๆทั้งหมดให้แก่อาจารย์สมใจ แบบพ่อสอนลูก ครูสอนศิษย์แต่เพียงผู้เดียว อาทิเช่น วิชาอักขระขอม-ไทยโบราณ วิชาคาถาอาคมต่างๆ ทั้งแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน เมตตามหานิยม เมตตามหาเสน่ห์ ล้วนเป็นพุทธคุณของคุณพระทั้งสิ้นและถ่ายทอดการสักยันต์ไทยแบบเก่าแก่โบราณสายนะอุตตะรังให้แก่พ่อสมใจจนหมดสิ้นความรู้ที่ท่านมี
ในปี พ.ศ.2500 อาจาย์สมใจได้เข้าอุปสมบท ณ วัดสังเวช ในขณะที่ได้อุปสมบทอยู่ในพรรษานั้น ทางท้องสนามหลวงได้มีงานฉลองกึ่งพุทธการ ได้มีการนำพระพุทธ 25 ศรรตวรรต
มาทำการพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง โดยมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังทั่วฟ้าเมืองไทยเข้าร่วมพิธี และพ่อสมใจในขณะนั้นซึ่งยังอุปสมบทอยู่ได้รับนิมนต์ให้ไปเข้าร่วมพิธีปลุกเสกพระพุทธ 25 ศรรตวรรต ณ มนฑลพิธีในครั้งนั้นด้วย
อาจารย์สมใจ ศรีศักดา ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจรุ่นแหวนอัศวิน นายร้อยป.4 นายตำรวจ นายทหาร ข้าราชการ หรือแม้กระทั่งท่านอธิบดีเผ่า ศรียานนท์ นายฉัตร ศรียานนท์ และศิลปินนักแสดง อาทิเช่น ตลก ล้อต๊อก โขนคณะนายสังวาล เจริญยิ่ง เจ้าขุนมูลนายและประชาชนทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าเป็นที่กล่าวขานเกี่ยวกับเรื่องราวความเข้มขลังและความศักดิ์สิทธิ์หลังจากที่ได้รับการสักยันต์สายนะอุตตะรังไปแล้วนั้น มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ในช่วงเวลาตอนใกล้พลบค่ำของวันหนึ่งได้มีกลุ่มนายตำรวจบุกเข้าล้อมบ้านของอาจารย์สมใจ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น ได้ทราบมาว่ามีจอมโจรฉายาสี่คิงโพธิ์ดำ ซึ่งเป็นศิษย์ของอาจารย์สมใจนั้น ได้เข้ามาหาท่านอาจารย์สมใจบนบ้าน จึงได้นำกำลังตำรวจเข้ามาปิดล้อมเพื่อทำการจับกุมตัวโจรสี่คิงโพธิ์ดำ อาจารย์สมใจได้เล่าว่าโจรสี่คิงนั้นได้ขึ้นมาบนบ้านอาจารย์แล้วพูดออกมาว่า “ คงจะไม่ได้มาที่นี่อีกแล้ว ” โจรสี่คิงโพธิ์ดำก็ร้องให้ แล้วก้มลงกราบเท้าของอาจารย์สมใจและหันหลังเดินลงบันไดบ้านเป็นเวลาเดียวกันที่บรรดาตำรวจที่เข้าล้อมรอบตัวบ้านอยู่นั้นได้วิ่งสวนทางขึ้นมา แต่กลับไม่มีใครพบเห็นตัวโจรสี่คิงโพธิ์ดำ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้จึงเป็นที่ร่ำลือกันว่า จอมโจรสี่คิงโพธิ์ดำ สามารถล่องหนหายตัวได้ เพราะได้รับการสักยันต์จากอาจารย์สมใจ ศรีศักดา อันเป็นที่ประจักแก่สายตาของบรรดาตำรวจในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
|